เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 1. เอกกปุคคลบัญญัติ
[9] บุคคลผู้เป็นปุถุชน เป็นไฉน
บุคคลใดยังละสังโยชน์ 3 ไม่ได้และไม่ปฏิบัติเพื่อละสภาวธรรมเหล่านั้น บุคคล
นี้เรียกว่า ผู้เป็นปุถุชน
[10] บุคคลผู้เป็นโคตรภู เป็นไฉน
การก้าวลงสู่อริยธรรมมีในลำดับแห่งสภาวธรรมเหล่าใด บุคคลผู้ประกอบด้วย
สภาวธรรมเหล่านั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นโคตรภู
[11] บุคคลผู้เป็นภยูปรตะ เป็นไฉน
พระเสขะ 7 จำพวกและปุถุชนผู้มีศีลชื่อว่าผู้เป็นภยูปรตะ พระอรหันต์ชื่อว่า
ผู้เป็นอภยูปรตะ
[12] บุคคลผู้เป็นอภัพพาคมนะ เป็นไฉน
บุคคลผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรม1 เครื่องกั้นคือกิเลส2 เครื่องกั้นคือ
วิบาก3 เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ มีปัญญาทราม โง่เขลา ไม่ควรหยั่งลงสู่
นิยาม4ที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้เรียกว่า ผู้เป็นอภัพพาคมนะ
[13] บุคคลผู้เป็นภัพพาคมนะ เป็นไฉน
บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรม เครื่องกั้นคือกิเลส เครื่องกั้นคือ
วิบาก เป็นผู้มีศรัทธา มีฉันทะ มีปัญญา ไม่โง่เขลา ควรหยั่งลงสู่นิยามที่ถูกต้อง
ในกุศลธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้เรียกว่า ผู้เป็นภัพพาคมนะ

เชิงอรรถ :
1 กรรม ในที่นี้หมายถึงอนันตริยกรรม 5 คือ (1) ฆ่ามารดา (2) ฆ่าบิดา (3) ฆ่าพระอรหันต์ (4) ทำร้าย
พระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต (5) ทำสงฆ์ให้แตกกัน (อภิ.ปญฺจ.อ. 12/42)
2 กิเลสในที่นี้หมายถึงนิยตมิจฉาทิฏฐิ (อภิ.ปญฺจ.อ. 12/42)
3 วิบากในที่นี้หมายถึงอเหตุกปฏิสนธิ ได้แก่ ปฏิสนธิที่ปราศจากกุศลเหตุ 3 ประการ คือ อโลภะ อโทสะ
และอโมหะ ได้แก่ ปฏิสนธิของสัตว์ดิรัจฉาน และทุกเหตุกปฏิสนธิ หมายถึงปฎิสนธิที่ปราศจากอโมหเหตุ
ได้แก่ ปฏิสนธิของมนุษย์บางจำพวก เช่น พวกที่บอด ใบ้ มาแต่กำเนิด (อภิ.ปญฺจ.อ. 12/42)
4 นิยาม ในที่นี้หมายถึงมรรค (อภิ.ปญฺจ.อ. 12/42)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :151 }


พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 1. เอกกปุคคลบัญญัติ
[14] บุคคลผู้เป็นนิยตะ เป็นไฉน
บุคคลผู้ทำอนันตริยกรรม 5 จำพวก บุคคลผู้เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ และพระ
อริยบุคคล 8 จำพวกชื่อว่าผู้เป็นนิยตะ บุคคลที่เหลือชื่อว่าผู้เป็นอนิยตะ
[15] บุคคลผู้เป็นปฏิปันนกะ เป็นไฉน
บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรค 4 จำพวก ชื่อว่าผู้เป็นปฏิปันนกะ บุคคลผู้
พร้อมเพรียงด้วยผล 4 จำพวกชื่อว่าผู้เป็นผเลฐิตะ
[16] บุคคลผู้เป็นสมสีสี เป็นไฉน
ความสิ้นอาสวะและความสิ้นชีวิตของบุคคลใดไม่ก่อนไม่หลัง บุคคลนี้เรียกว่า
ผู้เป็นสมสีสี
[17] บุคคลผู้เป็นฐิตกัปปี เป็นไฉน
บุคคลนี้เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล และเป็นเวลาที่กัปถูกไฟไหม้
กัปไม่พึงถูกไฟไหม้ตราบเท่าที่บุคคลนี้ยังไม่ทำให้แจ้งโสดาปัตติผล บุคคลนี้เรียกว่า
ผู้เป็นฐิตกัปปี บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรคแม้ทั้งหมดชื่อว่าผู้เป็นฐิตกัปปี
[18] บุคคลผู้เป็นอริยะ เป็นไฉน
พระอริยบุคคล 8 จำพวกชื่อว่าผู้เป็นอริยะ บุคคลที่เหลือชื่อว่าผู้เป็นอนริยะ
[19] บุคคลผู้เป็นเสขะ เป็นไฉน
บุคคลเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรค 4 จำพวก บุคคลเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วย
ผล 3 จำพวก ชื่อว่าผู้เป็นเสขะ พระอรหันต์ชื่อว่าผู้เป็นอเสขะ บุคคลที่เหลือชื่อว่า
ผู้เป็นเนวเสขานาเสขะ
[20] บุคคลผู้เป็นเตวิชชะ เป็นไฉน
บุคคลผู้ประกอบด้วยวิชชา 3 ชื่อว่าผู้เป็นเตวิชชะ
[21] บุคคลผู้เป็นฉฬภิญญะ เป็นไฉน
บุคคลผู้ประกอบด้วยอภิญญา 6 ชื่อว่าผู้เป็นฉฬภิญญะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :152 }